อย่างที่ขึ้นหัวไว้นั่นแหละครับความจริงแล้ว ไม่ใช่ความรู้อย่างเดียวด้วยซ้ำไป เพราะของแบบนี้มันต้องรู้เอาไว้ เนื่องจากเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยลดหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษารถของเราได้เป็นอย่างแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณๆ ที่ชอบใช้รถแบบไปตายเอาดาปหน้าทั้งหลาย
จุดอ่อนอยู่ที่ท้อง
ไม่อยากจะเชื่อ แต่ก็ต้องเชื่อว่า จุดอ่อนของรถนั้นอยู่ที่ท้องครับ ทว่างานนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องหน้าท้องลายหรือหน้าท้องนูนอะไรทั้งสิ้น เนื่องจากรถที่เราขับใช้งานนั้น ถ้าได้ลองลุยกันแล้ว รับประกันว่าท้องลายแน่นอน แต่เมื่อใช้งานจนหน้าท้องลายแล้ว สิ่งต่างๆ หรืออุปกรณ์ที่อยู่บริเวณเดียวกันนี้ มีส่วนไหนที่ได้รับผลกระทบไปด้วยบ้าง ซึ่งก็มีวิธีเดียวเท่านั้นที่จะสามารถรู้ได้ คือเราจะต้องมุดไปดูหน้าท้องของรถเราเองครับ ไม่ต้องห่วงว่าจะรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่อง เพราะเมื่ออ่านไปด้วย ดูไปด้วย รับรองว่าอย่างไรก็ต้องรู้ครับหรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องเห็นชิ้นส่วนตามรูปนั่นแหละครับ แต่ก่อนอื่น ต้องบอกเอาไว้เลยว่า งานนี้เราเน้นที่รถขับเคลื่อน 4 ล้อเป็นหลัก แต่ก็จะมีบางจุดบางตำแหน่งที่จะเหมือนกับรถขับเคลื่อน 2 ล้อธรรมดาๆ ที่ใช้งานกันอยู่ทั่วๆ ไปก็ขอแค่รู้ไว้ก่อนแล้วกันนะ
ก่อนจะเริ่มต้นการสำรวจใต้ท้องรถกันได้นั้น เราจะต้องหาสถานที่ที่เหมาะสม ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากจะให้การดูหรือการสำรวจครั้งนี้อยู่ในสถานบริการที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือยกรถที่มั่นคงแน่นหนา แบบขึ้นแม่แรงแล้วรองด้วยสามขานะพอได้ แต่วันนี้ไม่แนะนำครับ เพราะแบบนั้นมันดูได้ไม่ทั่วถึง แถมเจ้าของรถหรือตัวเรานี่แหละ ไม่สามารถจะไปชี้และถามช่างได้ในเวลาเดียวกัน ทั้งยังอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้ง่ายอีกด้วยครับ ดังนั้นงานนี้เลยต้องขอใช้สถานที่จากศูนย์บริการ ก็เลยจะขอถือโอกาสขอบคุณศูนย์บริการของเชฟโรเล็ต จ.ตรังมาในโอกาศนี้ด้วยครับ
เริ่มสำรวจความเสียหาย
เอาละครับ หลังจากที่เรานำรถขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศได้แล้ว คราวนี้เราจะลงมือสำรวจถึงความเสียหาย ความเสื่อมชรา รวมทั้งจุดต่างๆ ที่สามารถและไม่สามารถจะซ่อมแซมได้ ทั้งนี้การตรวจเช็คลักษณะนี้ ยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทางได้อีกด้วย แต่จะช่วยได้อย่างไร ต้องอ่านต่อไปครับ
สิ่งที่เรามองเห็นด้วยสายตาโดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเลยคือ สภาพความเสียหายเช่นรอยแตก รอยหัก หรือร่องรอยของการขูดขีดอันเนื่องมาจากเวลาที่เราลุยนั่นเองครับ ส่องไฟหาไปได้เลย ตั้งแต่หัวจรดท้าย
จากนั้น เราก็จะดูส่วนที่ไม่เคลื่อนที่แต่เสียหายได้ เช่น ลูกยางตามจุดต่างๆ อย่างยางหูช็อคอัพ ทั้งบน/ล่าง ยางกันกระแทก ของปีกนกและที่เพลาท้าย ลองจับลองโยกดูว่ามันมีรอยฉีกขาดหรือไม่(ปกติจะแข็งแรงมาก) จากนั้นก็ไปดูพวกท่อยางกันบ้าง ซึ่งโดยปกติแล้ว ท่อยางเหล่านั้น จะหลบอยู่ในซอกในมุมที่ยากจะโดนทำร้ายแต่ของแบบนี้เอาแน่ไม่ได้ครับ เคราะห์ซ้ำยามร้ายอาจจะมีกิ่งไม้สวนขึ้นไปทำให้ท่อยางฉีกได้เช่นกัน แต่อะไรไม่ร้ายเท่ากับ ท่อยางที่ว่านี้ จะเป็นท่อน้ำมันเชื้อเพลิงนี่ซิครับ ถึงแม้โซล่าจะไม่ติดไฟง่ายๆ แต่การที่น้ำมันหมดถังง่ายๆ นี่ก็ไม่ควรจะเกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวงครับไหนๆ ก็ดูเรื่องท่อทางน้ำมันแล้วก็ขอให้ตรวจเช็คสภาพของภายนอกของกรองน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งตัวมันยังทำหน้าที่ดักน้ำไม่ให้หลุดไปเข้าเครื่องยนต์อีกด้วย ดังนั้นไหนๆ ก็ไหนๆ จัดการปล่อยตูดไล่น้ำที่อาจจะตกค้างอยู่ด้วยเลยก็จะดีไม่น้อยครับ
จบจากเรื่องของน้ำมันก็มาดูจุดซ่อนเร้นที่เราจะต้องช่วยเหลือเพื่อยืดอายุการใช้งาน ครับ เจ้าจุดที่ว่านี้คือ เพลากลางครับ ลำพังถ้าใช้แค่เพลากลางเป็นแท่งๆ อย่างเดียวเราคงจะไม่ต้องทำอะไรมัน แต่เนื่องจากเพลากลางมันไม่ได้สามารถจะเป็นแท่งตรงๆ แท่งเดียวได้ เนื่องจากจะต้องมีการเปลี่ยนทิศทางหรือเปลี่ยนมุมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องมีตัวช่วยนั่นก็คือ กากบาด ซึ่งมันจะมีหน้าที่ช่วยให้เพลาสามารถหมุนไปได้โดยสะดวกแม้จะมีการเปลี่ยนมุมของเลากแต่ละท่อนก็ตาม ดังนั้นหน้าที่อันยุ่งยากของมันนี้ จำเป็นจะต้องมีการหล่อลื่นที่ดีตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้ออกแบบให้มีหัวอัดจาระบีมาให้ เพื่อที่เจ้าของรถจะได้ให้บริการได้โดยสะดวกครับ เพราะว่า เจ้ากากบาดนี้ความจริงแล้วไม่จำเป็นจะต้องลุยก็ควรดูแลเป็นประจำอยู่แล้ว หรือพวกที่บรรทุกหนักๆ กับที่ขับรถลุยน้ำบ่อยๆ ก็สมควรอย่างยิ่ง
เอาละเมื่ออยู่กับพวกหมุนๆ แล้วก็ต้องขอจบกับพวกหมุนๆ ด้วยเลย นั่นคือ เพลาขับหน้าครับ เจ้าเพลาหลังนะไม่ต้องคิดมากอยู่แล้ว เพราะมันเป็นแบบเพลาแข็ง แช่อยู่ในน้ำมัน แต่เพลาหน้านี่ซิครับ หน้าตามันก็เหมือนๆ กับของรถเก๋งดีๆ นี่เอง แตกต่างก็แค่ขนาดที่จะอวบหนากว่าเท่านั้นเอง แต่ต้องไม่ลืมว่ามันต้องรับภาระหนักอยู่ตลอดเวลา ยางหุ้มเพลาเองก็มีอายุการใช้งาน ด้วยเหตุนี้เวลาเลี้ยวพยายามอย่าหมุนพวงมาลัยจนสุดนะครับ เพราะตัวยางหุ้มเพลามันจะถูกดึงให้ยืดมาก เมื่อทำบ่อยๆ อายุมันก็จะสั้นลงด้วยครับ การดูและก็มีเท่านั้นเอง ส่วนสภาพนั้นถ้าหากยังไม่ครบอายุต้องเปลี่ยน(ตามคู่มือ)ก็ปล่อยไปได้ก่อน นั้นต้องไม่มีสภาพเหมือนกับยางเปื่อยด้วยนะครับ ถ้ามีแบบนั้นก็ต้องยมอเปลี่ยนไปซะก่อนที่จะขาด เพราะถ้ายางหุ้มเพลาขาด จาระบีที่อยู่ภายในจะถูกเหวี่ยงออกมา ฝุ่นทรายก็จะเข้าไปเกาะตามหน้าสัมผัสจนทั่ว คราวนี้ก็จะเสียหายมากขึ้นครับ แทนที่จะเสียแค่ค่ายางหุ้มเพลา กลับต้องจ่ายค่าเพลาใหม่หลายหมื่นครับ
เห็นหรือยังครับ แค่การมุดดูใต้ท้องหน่อยเดียวเท่านั้น ช่วยให้คุณปลอดภัยและยังสามารถประหยัดเงินตราในกระเป๋าไปได้อีกตั้งหลายหมื่นบาท เพราะเราจะได้รู้ได้เห็นความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้นได้ก่อน จนถึงขั้นที่จะเรียกได้ว่าเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมก็ว่าได้ครับ