หลังจากที่เข้าไปสำรวจศูนย์บริการ ACT มาเมื่อครั้งที่แล้ว ก็ตกลงใจว่าเราจะเอารถเข้ารับบริการที่นี่แหละ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับกระบวนการซ่อมส่วนที่ดี เปลี่ยนส่วนที่เสียของอู่ ทั้งนี้ บางท่านอาจจะทักว่า อ้าว ที่ผ่านมาก็ลงมือทำเองได้อยู่ไม่ใช่หรือ ครับ งานที่ผ่านมาก็ลงมือเองได้ แต่ทว่าครั้งนี้เจตนาเราต้องการเปลี่ยนช๊อคอับ ซึ่งที่บ้านไม่มีอุปกรณ์ช่วยในการกดสปริง จึงมิอาจเอื่อมที่จะลงมือด้วยตัวเอง แต่ถ้าจะเอาเข้าอู่ ก็คงไม่ยาก แต่อยากได้อะไรที่มันเนี่ยบบ้าง
ถอดและตรวจสอบ
สาเหตุของการเข้ามาเปลี่ยนช๊อคอับในครั้งนี้ เป็นเพราะอาการเด่งหน้าเด่งหลังเวลาขับรถบนเส้นทางที่ไม่เรียบ (ว้าแล้วถนนเมืองไทยมีตรงไหนเรียบจริงๆบ้างหนอ) การทรงตัวแย่ลงเรื่อยๆ วิ่งเร็วๆ ก็พาลจะพาลงข้างทาง และที่สำคัญเสียงดังกุ๊กๆ กักๆ มาตลอดเวลา เมื่อรอจะสามารถเก็บเงินได้สักเล็กน้อย ก็ตัดใจพารถเข้าไปตรวจสอบอาการและความเสียหาย ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากศูนย์บริการ ACT ที่ RCA โดยพี่ ไท มาร่วมในการวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ซึ่งก็เพียงการลองขับบนถนนจริงๆ พี่ไทก็บอกได้ว่าแน่ๆ ต้องมีลูกหมากคันชัก กับแร็ค เนื่องจากพวงมาลัยเหมือนหลวม คุมทิศทางยากเวลาเจอถนนเป็นลูกคลื่น
เอารถขึ้นเขียง ช่างที่ศูนย์มาช่วยกันขึ้นรถให้ลอยพ้นพื้น เพื่อตะทำการถอดเอาช๊อคอับออก ซึ่งก็ใช้เวลาเพียงครู่เดียว หลังจากล้อถูกถอดออกมาแล้ว ชุดสตรัทก็ออกมาวางนอนโชว์หุ่นอยู่บนชั้นวางของเรียบร้อย จากนั้นก็เป็นกระบวนการถอดเอาสปริงออกจากชุดดสตรัท ด้วยเครื่องมือพิเศษที่ทำหน้าที่จับกระบอกช๊อคอับกับกดสปริงเอาไว้ไม่ให้เด่งดึ๊งออดมาโดนหน้าโดนตา
เมื่อทุกชิ้นส่วนของสตรัทถูกถอดออกมาแล้วก็เริ่มวิเคราะห์อาการช๊อคอับก่อนเลย ด้วยการจับตั้งขึ้นแล้วกดลงให้สุด ปล่อยให้แกนช๊อคอับยืดตัวขึ้นมาเอง ทำทั้งสองตัวดูว่าระยะเวลาที่ใช้เท่ากันหรือไม่ จากนั้นเราได้เอาช๊อคอับคายาบ้าของใหม่มาลองเที่ยบ ปรากฏว่าตอนกด นิ่มกว่าของเดิม ตอนยืดออกก็เร็วกว่า แสดงว่ามีการตอบสนองได้เร็วกว่า นุ่มนวลกว่าแน่นอน เอ้า ตกลงเปลี่ยนช๊อค 1 คู่
จากนั้นมาดูว่าอะรควรจะต้องเปลี่ยนอีก มาจับๆ ดูตัวเบ้าช๊อคบน อันนี้เป้นของเทียม สภาพของยางรองจึงแทบจะไม่มีความยืดหยุ่นแล้ว ยุบเป็นร่องตามสภาพของซุ้มช็อคเลย แต่ถามว่ายางขาดไหม ไม่ครับ ตรวจสอบแล้วยางไม่ขาด แต่ที่ดูว่าจะต้องเสียเงินแน่ๆ เห็นจะเป็นตลับลูกปืนบางๆที่ช่วยในการหมุนของเบ้าช๊อด ซึ่งขาดชำรุด ต้องซื้อใหม่ 1 อัน (แพงด้วย)เมื่อดูความเสียหายชองชุดสตรัทแล้วก็จะมีตัวช๊อคอับ กับลูกปืน 1 ตลับ เท่านั้น จัดการล้างทาจารบีแล้วประกอบกลับเท่าที่เดิม วางพักไว้
ส่วนที่สองที่ตกเป็นจำเลยตั้งแต่แรกคือ แร็คพวงมาลัย ซึ่งเมื่อสำรวจโดยละเอียดแล้ว ก็พบว่าลูกหมากคันชัก / คันส่ง กับลูกหมากแร็คพวงมาลัยหลวมหมดแล้ว (ก็รถคันนี้ซื้อมาตั้งแต่ปี 2011 โน่นเลย ซึ่งก็ใช้งานมานานถึงสองแสนกว่ากม แล้ว ข้อเสื่อมย่อมต้องเกิดขึ้นอยู่เป็นธรรมดา หลังพิสูจน์ได้ว่า ลูกหมากของชุดแร็คหมดสภาพ จารบีไหลเยิ้มแล้ว ก็ต้องถอดเปลี่ยน ตอนนี้เองทำให้เราได้เห็นเครื่องมือพิเศษสำหรับถอดลูกหมากแร็คพวงมาลัย อธิบายไม่ถูก ดูรูปแทนแล้วกันครับ
ของต้องเปลี่ยน
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนในรอบนี้ ก็จะมีช๊อคอับ 1 คู่ ลูกหมากคันชัก/ส่ง กับลูกหมากแร็คพวงมาลัยซึ่งก็อยู่ในพวกเดียวกันนั่นแหละครับ ส่วนยางรองเบ้าหัวช๊อคนั้น เนื่องจากทุนทรัพย์ยังบกพร่อง จึงต้องเลื่อนการเปลี่ยนไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งถามว่ามีผลมากไหมถ้าไม่เปลี่ยน ก็จะมีเสียงดังกุ๊กกั๊กมาในบางหลุมบางเนิน แต่ยังไม่ถึงขั้นเสียการทรงตัวของรถ นอกจากนั้นตัวยางบู๊ชเองก็ไม่ได้ขาดเสียหายแต่อย่างใด แค่แข็งกว่าที่ควรจะเป็นเท่านั้นครับ เมื่อประกอบทุกอย่างเข้าที่แล้ว ก็ถึงเวลาประกอบและที่สำคัญคือต้องปรับตั้งศูนย์ล้อใหม่อีกครั้ง เพื่อจะได้ไม่มีอาการกินซ้ายกินขวาให้หงุดหงิดอีกต่อไป
สรุปรอบบนี้ เวลาและทุนทรัพย์มีทำได้แค่ช่วงล่างด้านหน้าเท่านั้น ซึ่งก็ไม่เป้นไร เพราะงานช่วงล่างไม่เหมือนเครื่องยนต์ ใช้เวลานานกว่าจะถึงขั้นขับไม่ได้หรือ เกิดอันตรายต่อการขับขี่ สำหรับเจ้าของรถไม่ว่าจะเป็นยีห้ออะไร หากมีอาการแกว่งคุมพวงมาลัยลำบาากเวลาวิ่งผ่านถนนที่เป็นคลื่นๆ หรือมีเสียงดังกุกกักๆ เวลาเจอถนนขรุขระแล้วของให้นึกถึงลูกหมากทั้งหลายไว้ได้เลย แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าเราเข้าใจถูกต้องหรือไม่ ก็สามารถเอาเข้าไปให้ศูนย์เขาช่วยดูก่อนได้ครับ อย่ารอจนกว่าอาการหนักจนเกิดความเสียหายถึงขั้นอุบัติเหตุเลยครับ