“ปู๊นปู๊น ฉึกฉักๆ” ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง
“ปู๊นปู๊น ฉึกฉักๆ”ฟังเสียงรถไฟมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เช้ามืดต้องได้ยินเสียงหวูดรถไฟทางหลังบ้าน โตขึ้นมากลับแทบจะไม่มีโอกาสได้ใช้บริการ อาจจะเนื่องมาจากภาระกิจที่วิ่งเป็นทางขนานกับทางรถไฟ แต่ก็พยายามหาเหตุผลที่จะลองใช้บริการรถไฟไทยมาโดยตลอด แม้จะมีข่าวรถตกรางบ้าง ชนกันบ้าง แต่รถไฟก็ยังอยู่ในใจตลอดมา เพราะเมื่อช่วงระยะเวลาหนึ่งต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่น ก็ใช้รถไฟเป็นหลักเช่นกัน พอมีรถไฟฟ้าทั้งลอยฟ้าและใต้ดิน ก็จะเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของการเดินทาง แล้วทำไมรถไฟไทยถึงไม่อยู่ในเส้นทางสักที
เมื่อสายๆของวันหยุด เกิดแสงแวบขึ้นมาในสมองถึงการเดินทางท่องเที่ยวแบบประหยัด อะไรดีละ รถทัวร์(แพง) รถตู้(น่ากลัว) เรือเมล์(ไม่ใช่เส้นทาง) สุดท้ายเป็นรถไฟ(ฟรี) แน่นอนว่าจุดหมายที่จะไปก็ต้องมีรถไฟผ่าน ไปทะเล ไปภูเขา หรือไปไหว้พระ เลือกไปได้เลย แต่เรามีเวลาเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น จึงหาจังหวัดที่ใกล้ๆ มีสถานที่น่าสนใจ วันนั้นเราเลือกจังหวัด “ลพบุรี” เหตุผลง่ายๆ เพราะเคยนั่งรถไฟไปดูแข่งรถที่สนามบินเมื่อตอนสมัยวัยรุ่น และที่สำคัญจะไปไหว้”เจ้าพ่อพระกาฬ” ซึ่งแม่เคยเล่าให้ฟังว่า ได้ไปอธิฐานของลูก แล้วก็ได้เรามา แม่เลยบอกมาตลอดว่า เราเป็นลิงลูกเจ้าพ่อพระกาฬ (แม้ตัวจริงจะเรียบร้อยมาก?)
เริ่มต้นการเดินทาง
เช้าวันเสาร์ 9.00 น.เราเริ่มออกเดินทางจากที่พัก ด้วยรถไฟฟ้า BTS ไปต่อรถไฟใต้ดิน MRT เพื่อไปยังสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตรวจสอบตารางเดินรถกับเจ้าหน้าที่ พบว่ามีรถธรรมดา ชั้น 3 ไปยัง อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งจะวิ่งผ่านจ.ลพบุรีเช่นกัน เราก็เลยไปแจ้งความจำนงค์เพื่อขอรับตั๋วฟรีจากพนักงาน ระบุเวลารถออกจากสถานี 11.20 ใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ระหว่างรอเวลา ก็ไปหาอาหารตุนลงท้องกันก่อน ที่ศูนย์อาหาร(บอกไว้ได้เลยว่าไม่อร่อยเท่าไร) เตรียมน้ำดื่ม ขนมขบเคี้ยว พร้อมขึ้นรถ ซึ่งต้องตกใจเป็นอันมาก เพราะไม่เหมื่อนกับที่เคยได้ยินมา นั่นคือ ตรงเวลาแป๊ะ
ชีวิตบนรถไฟ
“จับไข่แข็งปัง” กระจับ ไข่ปิ้ง น้ำแข็ง และขนมปัง เป็นประโยคที่คุ้นหูมานาน จนเราตั้งความหวังว่าจะได้พบเห็นของจริง แต่วันนี้ หาไม่เจอแล้วครับ ขึ้นไปนั่งได้สัก สิบนาที แม่ค้าคนแรกที่เดินผ่านมาแกขายแซนวิช อายุเท่าที่มองดูไม่น่าจะต่ำกว่า 60 ปี มีแซนวิชอยู่ในตระกร้า แม่ค้าคนที่สอง สามและสี่ มาเหมือนกัน “เบียร์ น้ำ ผ้าเย็น” ตลอดเส้นทางครับ
เสียงล้อของม้าเหล็กบดราง ทำให้รู้สึกตื่นเต้นเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง อากาศในระหว่างที่อยู่ในกทม. ยังร้อนอบอ้าว แต่พอเริ่มออกนอกตัวเมือง อากาศเริ่มสดชื่นขึ้น วิวข้างทางเริ่มมีสีเขียวจากนาข้าวให้เราได้เพลิดเพลิน ได้เห็นมุมมองที่เราไม่เคยได้เห็นจากรถยนต์ ได้ปล่อยความคิดให้ลอยไปเรื่อยเปื่อย เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพการจราจร ไม่ต้องกลัวว่ารถจะติด ไม่ต้องห่วงเรื่องขุดถนน ไม่มีใครมาตั้งด่าน โอ้ว สมองโล่งดีจริงๆ
เผลอตัวไปกับวิวทิวทัศน์ไม่นาน เราก็มาถึงสถานีลพบุรีประมาณบ่ายสองโมงครึ่ง ซึ่งนับว่าตรงเวลามาก แต่ก่อนจะไปเที่ยวต่อ เราไม่ลืมที่จะตรวจสอบเวลารถไฟเที่ยวล่องหรือเที่ยวกลับ ก็ได้เวลามาคือ 17.20 น. เอาละถึงเวลาไปเดินเล่นกันแล้ว
ลพบุรี
จังหวัดลพบุรี เป็นจังหวัดในภาคกลาง เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่กึ่งกลางของประเทศ มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองกำลังทั้งทหารบกและทหารอากาศหลายหน่วย เป็นศูนย์กลางทางด้านการทหาร กองกำลังทางการรบ ซึ่งจังหวัดลพบุรีนั้นมีภูมิประเทศที่เหมาะสมคืออยู่ในเขตตอนกลางของประเทศจึงทำให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการทหารซึ่งสามารถที่กระจายหรือแจกจ่ายกำลังพล อาวุธยุทธโทปกรณ์ไปยังภูมิภาคต่างๆได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลพบุรีได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้งสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และนอกจากนั้นได้มีการวางผังเมืองใหม่และตั้งหน่วยทหารขึ้นมาในเมืองลพบุรี ซึ่งมีหน่วนทหารที่สำคัญได้แก่ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ , ศูนย์การบินทหารบก , หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ , ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร , หน่วยรบพิเศษ เป็นต้น ดังนั้นเมืองลพบุรีจึงได้ชื่อว่าเป็นเมืองทหารเพราะมีหน่วยทหารที่สำคัญตั้งอยู่ถึง 11 หน่วย ลพบุรีในปัจจุบันจึงเป็น “เมืองเศรษฐกิจ เมืองท่องเที่ยว ศูนย์การศึกษาของภาคกลางตอนบน และยังเป็นเมืองทหารอีกด้วย” และนอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายแห่ง เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พระราชวังนารายณ์ราชนิเวศน์ พระปรางค์สามยอด เขาสนามแจง และทุ่งทานตะวันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ (มีพื้นที่ถึง 200,000-300,000 ไร่) และได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีลิงอาศัยอยู่มากและนับว่าเป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดลพบุรีเป็นจำนวนมาก
เราออกเดินจากสถานีรถไฟ โดยมีจุดหมายอยู่ที่ศาลพระกาฬครับ ด้วยความตั้งใจที่จะไปไหว้สักการะขอพร ให้ชีวิตได้พบแต่สิ่งดีๆ แคล้วคลาดจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นมงคลกับชีวิต ออกเดินมาถึงแยกข้ามทางรถไฟ เราก็พบกับสัญลักษณ์หนึ่งของจ.ลพบุรี เดินกันเต็มถนน ครับกำลังพูดถึง “ลิง” ที่อยู่คู่กับศาลพระกาฬและจ.ลพบุรี ทั้งยังเป็นจุดขายสำหรับการท่องเที่ยว ทำเงินเข้าจังหวัดมากมาย ชาวบ้านก็คุ้นเคยกับลิง รู้จักลิง และรู้วิธีกำหราบลิงเป็นอย่างดี
รับดอกไม้ ธูปเทียนมาแล้ว ก็ขึ้นไปไหว้เจ้าพ่อพระกาฬกัน(ศาลพระกาฬ สร้างด้วยศิลาแลงเรียงซ้อนกันเป็นฐานสูง แต่ก่อนเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ศาลสูง” ทับหลัง ซึ่งทำด้วยศิลาทรายสลักเป็นรูปพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 สมัยขอมเรืองอำนาจ วางอยู่ติดฝาผนังวิหารหลังเล็กชั้นบน ณ ที่นี้ได้พบหลักศิลาจารึกแปดเหลี่ยมจารึกอักษรมอญโบราณ พ.ศ. 2494 โดยสร้างทับบนรากฐานเดิมที่สร้างไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายในวิหารประดิษฐานพระนารายณ์ประทับยืน ซึ่งเดิมพระกร และพระเศียร หายไป แต่ต่อมามีผู้นำพระเศียร ของพระสมัยอู่ทอง และพระกรมาต่อ ตามตำนานกล่าวว่า ที่พระกรหายไปทั้งหมดเพราะ พระกาฬไปรับลูกระเบิด พระกรจึงขาดหายไปหมด
ในบริเวณรอบศาลพระกาฬมีลิงประมาณ 300 ตัว เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดลพบุรี บริเวณนี้มีต้นกร่างขนาดใหญ่ (แต่ปัจจุบันมีไม่มาก มีแต่ต้นมะขามเทศ) เป็นที่อาศัยของลิง เมื่อมีคนนำอาหารและผลไม้มาไหว้ที่ศาลพระกาฬ ลิงก็จะเข้ามากิน ทำใหผู้คนที่เข้ามาสักการะส่วนใหญ่ได้ชมความน่ารักของลิงไปพร้อมๆกับการมากราบไหว้ศาลด้วย)
ขอพร”พ่อ”เสร็จแล้ว ก็ไปหาอาหารรองท้องเราได้ร้านก๋วยเตี๋ยวใกล้ๆ ราคาไม่แรง ชามละ 10 บาท จัดไปซะ 3 ชาม ออกไปเดินเล่นในตลาด กับพิพิตภัณฑ์สถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ ชื่นชมกับความงดงามและความยิ่งใหญ่ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย
เวลาล่วงเลยมาพอสมควร เราจึงเดินกลับไปสถานีรถไฟ เพื่อรอรถเที่ยวล่องกลับกทม. สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นและรู้สึกดีคือ เด็กนักเรียนที่มานั่งรอรถกลับบ้าน ซึ่งทีแรกเราก็คิดว่าคงจะอยู่ใกล้ๆ แต่ที่ไหนได้ เด็กนักเรียนคนกลุ่มสุดท้ายที่ลงจากรถไฟเที่ยวนั้น อยู่จ.อยุธยาครับ
จบทริปการเดินทางแบบประหยัดสุดขั้ว ด้วยรถไฟไทย เราพบว่าการเดินทางครั้งนี้ ใช้เงินสำหรับค่ารถ 0 บาท ค่าอาหารและเครื่องดื่ม 250 บาท เท่านั้นเอง แล้วยังได้พบความจริงที่ว่า “รถไฟไทยโดดเนินได้อีกด้วย” ไปละครับ โอกาสหน้าพบกับการเดินทางท่องเที่ยวที่ไหน อดใจรอไม่นานครับผม
หมายเหตุสถานีรถไฟกรุงเทพ
สถานีนี้เริ่มสร้างในสมัย รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเริ่มใช้งาน วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 สถานีรถไฟหัวลำโพง เดิมเป็นสถานีที่ให้บริการทั้งด้านการขนส่งสินค้า และขนส่งมวลชน ต่อมาการขยายตัวในด้านการโดยสารและขนส่งสินค้ามีมากขึ้น แต่ด้วยพื้นที่อันจำกัดเพียง 120 ไร่ จึงทำให้ต้องย้ายกิจการขนส่งสินค้าไปอยู่ที่ย่านสินค้าพหลโยธิน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และทำการปรับปรุงสถานีรถไฟหัวลำโพงให้เป็นสถานีรถไฟสำหรับบริการด้านขนส่ง มวลชนเพียงอย่างเดียว เพื่อสามารถรองรับผู้โดยสารจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ
ตัวสถานีแบ่งเป็นสองส่วนหลัก ได้แก่ อาคารมุขหน้า มีลักษณะเหมือนระเบียงยาว และอาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค (Classicism) คือ เป็นงานเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณของกรีก – โรมัน จุดเด่นของสถานีหัวลำโพงอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาซึ่งติดตั้งไว้กลางส่วนโค้งของอาคารด้านในและด้าน นอก โดยเป็นนาฬิกาที่สั่งทำขึ้นพิเศษเป็นการเฉพาะ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตเหมือนนาฬิกาทั่วๆ ไป
บริเวณที่พักผู้โดยสารเป็นห้องโถงชั้นครึ่ง ชั้นล่างซึ่งมีที่นั่งจำนวนมาก มีร้านค้าหลากหลาย ได้แก่ ร้านอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ผลไม้ ขนมปัง ไอศกรีม หนังสือ ร้านขายยา ฯลฯ ก่อนถึงห้องจำหน่ายตั๋วล่วงหน้ายังมีห้องละหมาดอีกด้วย เหนือห้องประชาสัมพันธ์มีจอภาพขนาด 300 นิ้ว ควบคุมด้วยระบบ DOLBY DIGITAL ฉายเรื่องราวเกี่ยวกับการรถไฟ ส่วนชั้นลอย มีที่นั่งไม่มากนัก มีบริษัททัวร์ บริษัทรับจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบิน บริการแลกเปลี่ยนเงินตรา และร้านกาแฟ
ที่ผนังด้านซ้ายและขวาของสถานีหัวลำโพงมีภาพเขียนสีน้ำ เป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ของประเทศ อาทิ พระบรมมหาราชวัง ตลาดน้ำ เขาวัง ภูกระดึง หาดสมิหลา ฯลฯ นอกจากนี้ที่ด้านหน้าสถานีมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูป “ช้างสามเศียร” มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน
กิจการรถไฟในปัจจุบัน มีเส้นทาง เดินรถทั้งหมด 5 สาย สายที่ออกจากสถานีหัวลำโพง ได้แก่ 1. สายเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ปลายทาง สถานีรถไฟเชียงใหม่ 2. สายตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจะแยกออกเป็น 2 สาย ดังนี้ 2.1 ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย 2.2 ปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี 3. สายตะวันออก ต้นทางสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราแล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ 3.1 ปลายทางสถานีรถไฟอรัญประเทศ 3.2 ปลายทางสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง 4. สายใต้ต้นทางสถานีหัวลำโพง และสถานีธนบุรีเมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ 4.1 ปลายทางสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย 4.2 ปลายทางสถานีรถไฟ สุไหงโก-ลก
และสายแม่กลอง รถออกจากสถานีวงเวียนใหญ่ ปลายทางสถานรถไฟมหาชัย จากนั้นข้ามเรือโดยสารไปต่อยังสถานีรถไฟวัดแหลม ปลายทางสถานรีถไฟแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม
โอว์ เพลิดเพลินเดินทางไปกะรถไฟ น่าจัดสักทริปเนาะ ^ ^.