จากผลการศึกษาจัดทำโดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผย ตลาดรถเลี่ยงภาษี สร้างความเสียหายมหาศาลต่อผู้บริโภค ภาครัฐ อุตสาหกรรมยานยนต์ และผู้จำหน่าย อีกทั้ง ยังพบปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย และการให้บริการ หลังการขาย หากภาครัฐไม่เร่งจัดการอย่างจริงจัง นอกจากผู้บริโภคจะได้รับความเดือดร้อนแล้ว ยังจะทำเอา นักลงทุนขวัญผวา ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น
งานวิจัยดังกล่าวได้เปิดโปงให้เห็นถึงกระบวนการ ขนาดความเสียหาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจของ ตลาดรถเลี่ยงภาษีดังต่อไปนี้ กลเม็ดของผู้นำเข้ารถยนต์ในตลาดรถเลี่ยงภาษีมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบหลักๆ โดยรูปแบบที่เป็นที่นิยมมากที่สุดถึงร้อยละ 80 ของการนำเข้ารถยนต์เลี่ยงภาษีทั้งหมด คือการ “จดประกอบ” ด้วยการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์มาจากต่างประเทศ อาศัยช่องโหว่ของอัตราภาษีศุลกากร จากอัตราภาษีนำเข้า ชิ้นส่วนรถยนต์ที่อยู่เพียงร้อยละ 0-30 ในขณะที่การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปอย่างถูกต้อง จะต้องเสียภาษีในอัตรา ที่สูงถึงร้อยละ 60-80 จากนั้นจึงนำชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการพบการลัดขั้นตอน พิธีการศุลกากร และการตรวจสอบที่หละหลวมของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีผู้ค้าบางราย นำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปโดย สำแดงเท็จว่าเป็นชิ้นส่วนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
สำหรับวิธีการอื่นๆ ที่ผู้นำเข้ารถยนต์เลี่ยงภาษีนิยมทำกัน ได้แก่ การสำแดงราคารถยนต์สำเร็จรูป ต่ำกว่า ราคาจำหน่ายจริงในประเทศต้นกำเนิด และการนำเข้าในรูปแบบของรถยนต์มือสอง โดยปลอมเป็นชาวต่างชาติ ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ แล้วนำรถยนต์ส่วนตัวที่จดทะเบียนไว้ในต่างประเทศ เข้ามาได้ในรูปแบบของรถยนต์ มือสอง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 วิธีนี้ยังไม่เป็นที่นิยมเท่ากับวิธีการ “จดประกอบ”
ส่วนผู้บริโภคนั้น แม้จะซื้อรถยนต์เลี่ยงภาษีได้ในราคาถูก แต่อาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านมาตรฐานความปลอดภัย เกิดจากการนำรถยนต์มาแยกชิ้นส่วน แล้วนำมาประกอบใหม่ ในโรงงานที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากบริษัทแม่ หรือการเรียกรถยนต์คืน (Recall) จากบริษัทแม่ ในกรณีที่รถยนต์เฉพาะรุ่นมีความบกพร่อง ผู้ซื้อรถที่เลี่ยงภาษีย่อมไม่ได้รับสิทธิ แถม ต้องแบกรับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเองเพียงลำพัง
ปัญหาดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงความน่าเชื่อถือของ ผู้ผลิตแต่ละยี่ห้ออีกด้วย จึงทำให้ ผู้จำหน่ายที่ได้รับอนุญาตถูกต้องส่วนใหญ่ ปฏิเสธที่จะให้การรับประกัน หรือให้บริการซ่อมบำรุงแก่รถยนต์ ดังกล่าว ซ้ำร้าย ผู้บริโภคยังอาจถูกยึดรถและปรับเป็นมูลค่าสูงถึงสี่เท่าของราคารถยนต์ หากถูกจับได้ในภายหลัง ว่ารถยนต์ของตนถูกนำเข้ามาโดยการหลีกเลี่ยงภาษี ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 27 ทวิ
ความสูญเสียที่เกิดจากตลาดรถเลี่ยงภาษียังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เมื่อรวมผลกระทบเข้ากับเงินภาษี ที่รัฐไม่อาจ เก็บได้ในแต่ละปี และความสูญเสียของผู้จำหน่ายอย่างถูกต้อง ที่ถูกผู้ค้ารถเลี่ยงภาษีเอาเปรียบ อาจกล่าวได้ว่า ในแต่ละปีตลาดรถเลี่ยงภาษีได้สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคและภาครัฐเป็นอย่างมากแล้ว ตลาดรถเลี่ยงภาษี ยังก่อให้เกิดความเสียหายและความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน และผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย ที่อาจ เปลี่ยนใจต่อการลงทุนในประเทศไทย
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะ ให้ภาครัฐให้ความสนใจ อย่างจริงจังในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น โดยกรมศุลกากรควรเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีอย่างเคร่งครัด รวมถึงการติดตาม จับกุม ดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด และภาครัฐควรเพิ่มมาตรการที่เกี่ยวข้อง ในกระบวน การนำเข้ารถยนต์ เช่น กำหนดให้ผู้นำเข้าแสดงเอกสารยืนยันจากผู้ผลิต และสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่าย ที่ถูกต้องจากเจ้าของตราสินค้า รวมทั้งกำหนดให้มีการยื่นใบรับรองว่ามีศูนย์บริการอยู่ภายในประเทศด้วย นอกจากนี้ ให้มีการสอบสวนความผิดภายใต้กฎหมายฟอกเงิน ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ที่เกี่ยวกับการ ลักลอบหนีศุลกากร
ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้รถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย คณะผู้วิจัย ได้เสนอให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานไอเสีย รถยนต์ และเร่งจัดทำมาตรฐานรถยนต์ที่ใช้แก๊ส LPG และ NGV เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้นำเข้ารถยนต์เลี่ยงภาษี สามารถใช้เป็นช่องทางในการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบได้ และยังเป็นการยืนยันมาตรฐานความปลอดภัย ให้แก่ ผู้บริโภคด้วย