Monday, November 11, 2024
Homeไปไหนมา“เชียงคาน” เมืองที่นักเดินทางต้องไป

“เชียงคาน” เมืองที่นักเดินทางต้องไป

 

ผมนั่งนึกอยู่นานว่าชีวิตนี้เราได้เคยไปถึงเชียงคานหรือไม่…เพราะเคยไปทำแรลลี่ที่จังหวัดเลย แล้วไปตั้งจุดอยู่ริมน้ำโขง ทว่าเหตุการณ์นั้นมันก็นานมากเกือบ 20 ปีมาแล้ว แม้กระทั่งเมื่อกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปเชียงคานแท้ๆ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ถึงสักที  พอมีโปรแกรมจะต้องเดินทางไปยังเชียงคานอีกครั้ง ไม่รอช้าที่จะตอบรับการเดินทางครั้งนี้ ด้วยภาพในสมองของผม มันอยากเห็นเชียงคาน อยากไปสัมผัสถนนคนเดิน และอยากรับไอเย็นที่พัดข้ามของมาจาก สปป.ลาว

 

จะไปทางไหน ถามใครดี

ทุกวันนี้จะไปที่ไหนๆ บนผิวโลก คุณสามารถสอบถามและค้นหาเส้นทางได้จากแผนที่ google map หลายคนทิ้งแผนที่แบบกระดาษไปหลายปีแล้วด้วยซ้ำ แน่นอนว่าผมเองก็เช่นกัน เมื่อใกล้วันเดินทาง คณะเราต่างก็ไม่เคยไปถึงเชียงคานสักคนเดียว แน่นอนว่าแผนที่จากมือถือถูกกำหนดจุดหมายปลายทางไว้ที่ ”เชียงคาน” ระยะทางไม่ไกลไปกว่า600 กม. แต่ระยะเวลามากกว่า8ชม. ทำให้เราต้องออกเดินทางกันแต่เช้า

เส้นทางที่วางไว้แบบเข้าใจง่ายคือ ลพบุรี เพชรบูรณ์ และเชียงคาน เลย เราวิ่งตามที่กุเกิลบอกเป็นระยะๆ ซึ่งหลักๆ ก็คือเส้นทางหลวงหมายเลข21 มื้อกลางวันเราตั้งใจว่าจะกินไก่ย่างวิเชียร์บุรี แต่พอผ่านไปจริงๆ กลับรู้สึกว่าขับเลยขึ้นไปก่อนดีกว่า

ถึงหล่มสักเราจึงได้แวะเติมพลัง ก่อนจะมุ่งหน้าไปตามการนำทางของกูเกิล แน่นอนว่าเมื่อระยะทางไกลขึ้น ความชำนาญเส้นทางก็น้อยลง เมื่อผ่านภูเรือ กูเกิลก็สั่งให้เลี้ยวซ้าย ตายละหว่า ทางแคบๆ เล็กๆ พอจะรู้ได้ทันทีว่าโดนทางลัดเข้าให้แล้ว เราวิ่งในทางลัดไปนานโข เล่นเอาเหนื่อยและลุ้นว่าจะเจอทางหลักเมื่อไร

หลังจากฝ่าฟันกับทางลัดมาไม่น้อยกว่าชั่วโมง เราก็มาถึงเส้นทางหลัก ยังดีที่มีป้าย”เชียงคาน”ให้เห็น 1 ป้าย บ่ายแก่ๆ เราก็มาถึงเชียงคานแบบงงๆ จากนั้นก็ตามหาที่พัก แล้วเตรียมตัวไปพบกับ”เชียงคาน”ในฝัน

 

ตลาดต้องชม ชมได้ทั้งวัน

เย็นย่ำเอารถไปจอดที่สนามบอลโรงเรียน จ่ายค่าจอด 20 บาท แล้วออกไปเดินกัน เริ่มที่หน้าวัดกันเลย เดินเสาะหาของกินจริง กินเล่น ไปเรื่อยๆ ส่วนของฝากคงไม่ถูกกับเราเท่าไร สนุกสนาน ตื่นตากับของกินเล่นมากมาย โดยเฉพาะปูนาย่าง กุ้งจิ๋วๆ เสียบไม้ย่าง ขอบอกว่าต้องชิมครับ มองทีแรกอาจจะคิดว่าไม่น่ากิน แต่อย่าได้พลาดเชียวแหละ เดินไปเรื่อยๆ ถูกใจก็ดูนานหน่อย แล้วก็มาเจอร้านที่เขาเก็บเครื่องฉายหนังกลางแปลงเอามาตั้งโชว์ให้นึกถึงอดีต555

เวลา 2 ชม.ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เดินไปเดินกลับ ยังไม่นับริมน้ำที่รอไว้เช้าค่อยมาซ้ำ เพราะมืดแล้ว มองวิวไม่เห็น

เช้าเรารีบตื่นเพื่อมาใส่บาตรริมน้ำของ ไม่พลาดครับ ชุดละ 100 บาท นั่งเรียงๆ กันไป ยังไม่ถึง6 โมงเช้า พระก็มา ลดเย็นโชยมาเบาๆ เสียงคณะทัวร์มากมายกำลังรีบเข้าประจำที่ เสียงไกด์ เสียงคนขายบอกให้นั่งเลยๆ เราใช้เวลาอยู่ตรงนี้แค่ชั่วของหมด ก็ออกเดินเล่นริมน้ำ ต้องยอมรับในความสวยงามของวิว และการดูแลเอาใจใส่ของเทศบาล รวมถึงชาวเชียงคาน สิ่งหนึ่งที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ สินค้าที่สร้างชื่อให้กับเชียงคานคือ….ผ้าห่มนวมนะครับ เรื่องท่องเที่ยวนะมาทีหลัง

ไปจิบกาแฟแล้วดูชะมดกัน

สำหรับร้านกาแฟร้านนี้ ถือว่าฟลุคมากที่ได้ขับรถผ่านพอดี แถมไปรอบแรกยังไม่เปิด และได้วนรอบที่ 2 ถึงได้แวะ ลุงกับป้าช่วยกัน เป็นกาแฟขี้ชะมดแท้ๆ เหลือเพียงเจ้าเดียวในเชียงคาน เพราะที่ร้านเลี้ยงชะมดไว้เอง จึงช่วยลดต้นทุนได้ระดับหนึ่งครับ ใครที่สงสัยว่ากาแฟขี้ชะมดมันดียังไง อธิบายไม่ถูก ต้องได้ลองครับ แก้วละ 100 บาท อาจจะดูเหมือนแพง แต่อย่าลืมว่าอยู่ กทม.เข้าร้านกาแฟนางเงือกก็แก้วละร้อยกว่าบาทแน่นอน

สายแล้วมัวแต่ระรื่นอยู่กับแก้วกาแฟ การเดินทางยังอยู่อีกไกล คงต้องเก็บของขึ้นรถแล้วกลับที่ตั้งก่อนละครับ และสำหรับนักเดินทาง แผนที่แบบเล่มๆ หรือกระดาษมีประโยชน์นะครับ หามาติดรถไว้ อย่าพลาดเข้าทางลัดแบบผมเลย ไม่สนุกแน่นอนครับ

 

ประวัติความเป็นมาเมืองเชียงคานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองชะนะคาม ประเทศลาว ซึ่งสร้างโดยขุนคาน โอรสของขุนคัวแห่งอาณาจักรล้านช้าง เมื่อประมาณ พ.ศ. 1400 ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2250 อาณาจักรล้านช้างแยกออกเป็นสองอาณาจักรคือ อาณาจักรหลวงพระบาง ซึ่งมีพระเจ้ากีสราชเป็นกษัตริย์ และอาณาจักรเวียงจันทน์ ซึ่งมีพระเจ้าไชยองค์เว้เป็นกษัตริย์ โดยกำหนดอาณาเขตให้ดินแดนเหนือแม่น้ำเหืองขึ้นไปเป็นอาณาเขตหลวงพระบาง และใต้แม่น้ำเหืองลงมาเป็นอาณาเขตเวียงจันทน์ ต่อมาทางหลวงพระบางได้สร้างเมืองปากเหืองซึ่งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเป็นเมืองหน้าด่านและทางเวียงจันทน์ได้ตั้งเมืองเชียงคาน

เดิมเป็นเมืองหน้าด่านเช่นกัน ต่อมา พ.ศ. 2320 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกกับพระสุรสีห์ ยกทัพไปตีกรุงเวียงจันทน์ ตีเวียงจันทน์ได้จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกต กลับมายังกรุงธนบุรี แล้วได้รวมอาณาจักรล้านช้างเข้าด้วยกันและให้เป็นประเทศราชของไทย และได้กวาดต้อนผู้คนพลเมืองมาอยู่เมืองปากเหืองมากขึ้น แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เมืองปากเหืองไปขึ้นกับเมืองพิชัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ คิดกอบกู้เอกราชเพื่อแยกเป็นอิสระจากไทยโดยยกกำลังจากเวียงจันทน์มายึดเมืองนครราชสีมา แต่ในที่สุดเจ้าอนุวงค์ถูกจับขังจนสิ้นชีวิต กองทัพไทยที่ยกมาปราบเจ้าอนุวงศ์ที่นครราชสีมาได้ยกทัพไปกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงมายังเมืองปากเหืองมากขึ้น และโปรดเกล้าฯ ให้พระอนุพินาศ (กิ่ง ต้นสกุลเครือทองศรี) เป็นเจ้าเมืองปากเหืองคนแรก แล้วพระราชทานชื่อเมืองใหม่ว่าเมืองเชียงคาน ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกจีนฮ่อได้ยกทัพมาตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองหลวงพระบางและได้เข้าปล้นสะดมเมืองเชียงคานเดิมที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ชาวเชียงคานเดิมจึงอพยพผู้คนไปอยู่เมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) เป็นจำนวนมาก

ครั้งต่อมา เห็นว่าชัยภูมิเมืองเชียงคานใหม่ (เมืองปากเหือง) ไม่เหมาะสม ผู้คนส่วนใหญ่จึงอพยพไปอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ซึ่งใกล้กับที่ตั้งของอำเภอเชียงคานปัจจุบัน แล้วตั้งชื่อใหม่ว่า เมืองใหม่เชียงคาน ต่อมาไทยได้เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส ทำให้เมืองปากเหืองตกเป็นของฝรั่งเศส คนไทยที่อยู่เมืองปากเหืองจึงอพยพมาอยู่เมืองใหม่เชียงคานหรืออำเภอเชียงคานปัจจุบันโดยสิ้นเชิง แล้วได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นเมืองเชียงคานใหม่ ได้ตั้งที่ทำการอยู่บริเวณวัดธาตุ เรียกว่าศาลาเมืองเชียงคาน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่บริเวณวัดโพนชัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2452 เมืองเชียงคานซึ่งมีพระยาศรีอรรคฮาด (ทองดี ศรีประเสริฐ) ได้รับตำแหน่งนายอำเภอเชียงคานคนแรก ต่อมาปี 2484 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเชียงคานมาอยู่ ณ ที่อยู่ปัจจุบันตราบเท่าทุกวันนี้

RELATED ARTICLES
- Advertisment -









- Advertisment -