ในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการประกวดผลงานนวัตกรรม ‘Ford Innovator Scholarship’ ฟอร์ด ประเทศไทย โชว์ 3 ผลงานโดดเด่นจากทีมเยาวชนไทยผู้ชนะการประกวดที่ได้รับการต่อยอดใช้งานจริง สร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงบวกสู่ชุมชนและสังคม พร้อมเชิญชวนนักเรียน นักศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาเข้าร่วมประกวดโครงงานสิ่งประดิษฐ์ ชิงทุนการศึกษามูลค่ารวม 840,000 บาท ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 20 กันยายน 2567
ฟอร์ดส่งต่อความภาคภูมิใจที่ได้สนับสนุนเยาวชนไทยในการพัฒนาความรู้และทักษะในการคิดค้นนวัตกรรม พร้อมทั้งเชื่อมโยงสู่การนำไปใช้จริงในสังคม ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โครงการนี้สร้างนวัตกรรุ่นใหม่แล้วกว่า 2,000 คน และขับเคลื่อนนวัตกรรมกว่า 100 ชิ้นสู่สังคมเพื่อวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ซึ่งตอกย้ำถึงพลังและความมุ่งมั่นของเยาวชนไทยจากทั่วประเทศ ไม่จำกัดระดับการศึกษา เพื่อเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อโลกที่น่าอยู่ต่อไป โดยส่วนหนึ่งของผลงานที่โดดเด่น ได้แก่
ผลงานนวัตกรรม ‘เตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียน’ จากวิทยาลัยการอาชีพไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ปี 2565 ด้วยแนวคิดที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสภาวะโลกรวนได้ครอบคลุม ผ่านการออกแบบเตาอบไร้ควันใช้พลังงานหมุนเวียน แทนเตาปิ้งย่างและเตาอบแบบดั้งเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงและก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยลดการปล่อยควันสู่สิ่งแวดล้อม แต่ยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานอาหารปิ้งย่างและอบได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยการลดสารเจือปนในอาหาร หลังการประกวด ทีม ผู้ชนะได้นำองค์ความรู้และทักษะที่ได้รับมาพัฒนาเตาอบไร้ควันพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม โดยสร้างเตาย่างขนมจาก ซึ่งเป็นขนมไทยโบราณที่ได้รับความนิยม โดยตัวเครื่องได้รับการปรับรูปแบบจากแนวตั้งเป็นแนวนอน ให้เหมาะกับทรงขนมจากและทำให้ขนมกลิ้งไปมาจากแรงโน้มถ่วงได้ พร้อมนำนวัตกรรมนี้มอบให้กับร้านอาหารในพื้นที่ชุมชน เพื่อช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมความยั่งยืนในท้องถิ่น
ผลงานนวัตกรรม ‘รถยนต์ไฟฟ้า Kotaka สำหรับคนพิการ’ รางวัลชนะเลิศภาคเหนือและภาคตะวันตกปี 2565 จากวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นนวัตกรรมรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน ออกแบบมาเพื่อให้ผู้พิการหรือผู้สูงอายุเดินทางได้สะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น โดยทีมนักศึกษาได้พัฒนารถยนต์นี้ตามคำแนะนำจากกรรมการและผู้เชี่ยวชาญระหว่างการประกวด เช่น การติดตั้งคาลิปเปอร์เบรก สายคาดนิรภัย ถังดับเพลิง และเซ็นเซอร์ตรวจจับความปลอดภัย 4 จุดรอบรถ หลังจากปรับแต่งเพิ่มเติม นวัตกรรมนี้ถูกนำไปจัดแสดงในวันผู้พิการสากล และนำไปทดลองใช้กับผู้พิการจริง เพื่อการพัฒนาต่อยอดต่อไป
ผลงานนวัตกรรม ‘ต้นแบบเครื่องตากข้าวประหยัดพลังงาน’ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกที่โครงการ Ford Innovator Scholarship เปิดรับผลงานจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น ทีมมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ สามารถนำเสนอไอเดียที่โดดเด่นและคว้ารางวัลมาครอง โดยนวัตกรรมนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากการตากข้าวบนถนนในท้องถิ่น ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย จึงได้ออกแบบเครื่องตากข้าวที่ใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ไอนํ้าและความเข้มแสง ร่วมกับพลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ หลังจากการประกวด ทีมได้นำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการไปพัฒนาต่อยอดให้ผลงานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่งผลให้คุณภาพเมล็ดข้าวเมื่อนำไปสีดีขึ้น นวัตกรรมชิ้นนี้ ได้รับความสนใจจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่จำนวนมาก และได้นำไปเผยแพร่พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่นักเรียนในระดับประถมศึกษา รวมถึงคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์
ในปีนี้ โครงการ Ford Innovator Scholarship 2024 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘การออกแบบนวัตกรรมพลังบวก เชื่อมต่อชุมชน เพื่อโลกที่ดีกว่า’ (Connect Innovation with Communities for a Better World Challenge) ครอบคลุม 3 แนวทางหลัก ได้แก่ นวัตกรรมสร้างศักยภาพเพื่ออาชีพในอนาคต นวัตกรรมเสริมอาชีพเพื่อธุรกิจยุคใหม่ และนวัตกรรมสร้างความปลอดภัยในชุมชน มอบทุนการศึกษาแก่ผู้เข้ารอบสุดท้าย จำนวน 12 ทุน และทุนสนับสนุนการพัฒนาโครงงานสำหรับสถาบันการศึกษา จำนวน 4 ทุน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 840,000 บาท นักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษาที่สนใจ สามารถส่งผลงานได้ทั้งแบบเดี่ยวและแบบทีม ทีมละไม่เกิน 5 คน ได้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 20 กันยายน 2567 โดยสมัครได้ 2 วิธี ได้แก่
- สมัครและส่งโครงงานผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ https://forms.gle/rzPVXDEGudtqMUQt6
- สมัครและส่งโครงงานผ่านทางไปรษณีย์ที่ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เลขที่ 246/8 ซอยโยธินพัฒนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 วงเล็บมุมซอง ‘Ford Innovator Scholarship 2024’ พร้อมส่งไฟล์ข้อมูลสำรองมาที่อีเมล [email protected] (ใช้วันที่ประทับตราไปรษณีย์ เป็นเอกฉันท์)